ในโลกของฟุตบอล หากคุณมีเงินเป็นพันล้าน คุณสามารถซื้อนักเตะมาเพื่อให้ทีมกวาดแชมป์ได้มากก็จริง แต่นั่นเป็นเพียงความสำเร็จชั่วคราว สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดอีกประการของการสร้างทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ

“นักเตะเยาวชน”

รากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืน หลายๆ ทีมฟุตบอลทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเยาวชน เพื่อผลิตแข้งดาวรุ่งสู่สโมสร หรือ การเสาะหาผู้เล่นอายุน้อยฝีเท้าดีมาร่วมทีม วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ 5 สุดยอดอะคาเดมี่ กันว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร และนักเตะระดับโลกที่ผ่านการฝึกฝนจากอะคาเดมี่เหล่านี้มีใครบ้าง

 



 

อันดับที่ 5 – The Saints Academy เดอะ เซนต์ อะคาเดมี่ ของสโมสรเซาแธมป์ตัน

อะคาเดมี่

 

ก่อตั้ง: 1885

เชื้อชาติ: 95% อังกฤษ 5% ต่างชาติ

 

ที่มา

นักบุญจากแดนใต้ เซาแธมป์ตัน มีจุดเริ่มมาจากก่อตั้งทีมฟุตบอลภายใต้ชื่อสมาคมโบสถ์เซนท์ แมรี่ ในปี 1885 และเข้าร่วมลีกดิวิชั่นสามในปี 1919 เป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ฝึก โดยในยุคแรกมี เซาแธมป์ตัน เคมบริดจ์ เป็นสถาบันฝึกสอนแยกต่างหากก่อนจะควบรวมในเวลาต่อมา อะคาเดมี่ของเซาแธมป์ตัน เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นหลังในยุคปลายปี 80 พวกเขายังผลิตดาวเตะหนุ่มเกมรุกพรสวรรค์สูงรุ่นใหม่ อย่าง ร๊อด วอลเลซ, อลัน เชียเรอร์ และแมทธิว เลอ ทิสซิเอร์ ออกมาประดับวงการ ก่อนจะมีชื่อเป็นหนึ่งในสโมสรที่ปลุกปั้นนักเตะได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

เซาแธมป์ตันเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดโดยมีผู้เล่นลูกหม้อเป็นกำลังหลัก ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากระบบเยาวชนที่ถูกวางรากฐานไว้อย่างต่อเนื่องโดยทีมงานทุกชุด โดยให้ความสำคัญเรื่องผู้เล่นเยาวชนมากเป็นพิเศษ ทั้ง การให้ปฏิบัติกับนักเตะชุดยู 21 เหมือนกับทีมชุดใหญ่และกล้าให้โอกาสดาวรุ่งได้ลงสัมผัสเกม ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเตะหนุ่มได้สัมผัสประสบการณ์พร้อมที่จะขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ได้ทุกเมื่อ และอะคาเดมี่นักบุญไม่ละเลยที่จะดูแลฟุตบอลระดับรากหญ้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ ให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่น

 

ปัจจุบัน

“The saints” ขึ้นชื่อในเรื่องการปั้นนักเตะเยาวชนฝีเท้าดีขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลอาชีพอยู่เสมอ โดยทั้ง อลัน เชียเรอร์, แกเร็ธ เบล หรือ อดัม ลัลลาน่า คือตัวอย่างผลงานจากการฟูมฝักของทีม และมักจะถูกทีมใหญ่ฉกไปร่วมทีมอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่สโมสรต้องพบเจอเป็นประจำกับความยากลำบากกับการรักษาผู้เล่นอายุน้อยไว้กับทีมต่อไป อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ได้ประโยชน์จากผลตอบแทนก้อนโตที่ส่วนหนึ่งนำมาพัฒนาระบบเยาวชนอย่างสนามซ้อมแห่งใหม่มูลค่า 20 ล้านปอนด์ที่สร้างขึ้นในปี 2014

 

นักเตะจากอะคาเดมี่

– ธีโอ วัลคอตต์
– แกเร็ธ เบล
– อดัม ลัลลาน่า
– ลุค ชอว์
– อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน

 

อันดับที่ 4 – Anderlecht อันเดอร์เลทช์ อะคาเดมี่ ของสโมสรอันเดอร์เลทช์

อะคาเดมี่

 

ก่อตั้ง: 1922

เชื้อชาตินักเตะ: 90% โปรตุกีส 10% บราซิเลียน

 

ที่มา

เบลเยียม ยุคเฟื่องฟูสุดขีดคือช่วงทศวรรษ 80 กับผลงานรองแชมป์ ยูโร ปี 1980 ตามด้วยอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 1986 หลังจากนั้นผลงานก็ดิ่งลงเหวลงเรื่อยๆ จนกระทั่งผลงานตกรอบแรกยูโร 2000 ในฐานะเจ้าภาพ คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ สมาคมฟุตบอลเบลเยียม ตัดสินใจลุกขึ้นมาปฏิวัติรื้อโครงสร้างทั้งหมด โดยเฉพาะระบบเยาวชนที่ผลักดันให้ทีมยักษ์ใหญ่ในลีกอย่าง อันเดอร์เลชท์ ต้องพัฒนาศูนย์ฝึกจากที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานในปี 1922 ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้สโมสรนี้ไม่เป็นเพียงแค่ทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเบลเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำการฝึกสร้างนักเตะ ที่จะนำทัพปีศาจแดงแห่งยุโรปให้กลับคืนสู่ยุค “Golden Generation” อีกครั้ง

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ศูนย์ฝึกที่นี่ได้รับอิทธิพลจากการรื้อระบบใหม่โดยฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอล ที่ปลูกฝังแนวคิดที่จะปลุกชีพ “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” โดยการสนับสนุนแข้งวัยละอ่อนให้กระจายไปเล่นยังลีกที่แข็งแกร่งกว่า ประกอบกับข้อกำหนดที่ให้มีเกมระดับเยาวชนตามเกณฑ์ ซึ่งถ้านักเตะอายุมากขึ้น แมตช์ที่เล่นก็จะเพิ่มตามไปด้วย เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้พร้อมก้าวสู่อีกระดับให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจึงได้เห็นวันเดอร์คิด อย่าง ยูริ ตีเลมองส์ เคยก้าวขึ้นมายึดตัวจริงในแผงมิดฟิลด์ของอันเดอร์เลช พร้อมลงสนามในศึกยูฟ่าฯ ด้วยวัยเพียง 16 ปี 148 วันเท่านั้น!

 

ปัจจุบัน

หลังจากที่สมาคมฟุตบอลเบลเยียมได้มีการเน้นการโฟกัสที่ระบบพัฒนาเยาวชนมากเป็นพิเศษตั้งแต่กว่าทศวรรษที่แล้ว ส่งผลโดยตรงให้ปัจจุบัน ยอดทีมแดนช็อคโกแลต ปลุกปั้นแข้งเลือดใหม่ขึ้นมาสู่ทีมมากมาย อย่างในซีซั่นนี้มีแข้งลูกหม้อที่ดันขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ถึง 14 ราย ซึ่งเกือบทุกคนล้วนมีประสบการณ์กับทีมชุดใหญ่ในเกมลีก และเวทีใหญ่อย่างยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกมาแล้วทั้งนั้น อย่างไรก็ตามด้วยนโยบายผลักดันแข้งดาวรุ่งออกไปสร้างชื่อยังต่างแดนของทีมชาติ ทำให้นักเตะฝีเท้าดีของทีมจำนวนไม่น้อยถูกดึงออกไปเก็บเลเวลกับทีมใหญ่ทั่วยุโรป และน่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปจนกว่า จูปิแลร์ลีกจะอัพเกรดลีกให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

นักเตะจากอะคาเดมี่

– แวงซองต์ กอมปานี
– โรเมลู ลูกากู
– ยูริ ติเลมองส์
– เดนนิส ปราเอต์

 



 

อันดับที่ 3 – Academia Sporting อคาเดเมีย ของสโมสรสปอร์ติ้ง ลิสบอน

อะคาเดมี่

 

ก่อตั้ง: 2002

เชื้อชาตินักเตะ: 90% โปรตุกีส 10% บราซิเลียน

 

ที่มา

มีไม่กี่อะคาเดมี่ในโลกฟุตบอล ที่สามารถเบ่งได้ว่า อดีตแข้งลูกหม้อของพวกเขาเคยคว้ารางวัล FIFA world players of the year มาแล้วถึง 2 คน นั่นคือโรงเรียนลูกหนัง สปอร์ติ้ง ลิสบอน ที่ได้รับการยกย่องจากฟีฟ่าว่าเป็นศูนย์ฝึกอีกศูนย์นึงที่ดีที่สุดในยุโรป ผู้เล่นในยุคแรกที่ส่งออกมาอวดฝีเท้า คือ เปาโล ฟูเตร้ ตำนานทีมชาติโปรตุเกส เดิมทีนั้นศูนย์ฝึกของสโมสรตั้งอยู่กลางกรุงลิสบอน แต่ต่อมาได้มีการก่อสร้างใหม่ที่แถบชานเมือง ในปี 2002 เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกกีฬาอย่างเป็นทางการ และเตรียมตัวรองรับการเป็นเจ้าภาพยูโร 2004 ของโปรตุเกส ซึ่งเป้าหมายของสถาบันแห่งนี้ไม่ได้แค่เพื่อสร้างยอดนักเตะ แต่มีเพื่อสร้างฮีโร่แห่งทัพฝอยทอง

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

อคาเดเมีย สปอร์ติ้ง เป็นศูนย์ฝึกแห่งแรกและแห่งเดียวในยุโรปที่ได้การรับรองคุณภาพ ISO9001:2008 จาก EIC เมื่อปี 2010 กระบวนการพัฒนาเยาวชนของ สปอร์ติ้ง ลิสบอน มีแนวทาง คือ กล้าที่จะลงทุนกับศูนย์ฝึกด้วยเงินก้อนกว่า 15 ล้านปอนด์ เงินทั้งหมดถูกลงทุนไปกับอะคาเดมี่ และจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี รวมถึงการเสาะหาแข้งพรสวรรค์ในโปรตุเกสและเครือข่ายศูนย์ฝึกที่มีอยู่ทั่วโลกและโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยม ทำให้สปอร์ติ้งสามารถดึงนักเตะฝีเท้าเยี่ยมจากอะคาเดมี่ขึ้นสู่ชุดใหญ่ได้ทุกๆ ปี โดยที่นี่ไม่เพียงแต่ฝึกสอนทักษะทางด้านฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังสอนการใช้ชีวิตในฐานะนักฟุตบอลอาชีพอีกด้วย

 

ปัจจุบัน

ตามรายงานของ EAC Report ในการศึกษาอะคาเดมี่ทั่วยุโรป สปอร์ติ้ง ลิสบอน มีค่าเฉลี่ยที่น่าสนใจ คือ นับตั้งแต่ก่อตั้ง อคาเดเมีย สปอร์ติ้ง เมื่อปี 2002 จะมีนักเตะในคาถาของตัวเองอย่างน้อย 7 ราย ในทีมชาติโปรตุเกสทุกรุ่น และในฟุตบอลโลก 2014  ที่ผ่านมามีนักเตะที่เติบโตมาจากศูนย์ฝึกสปอร์ติ้ง อยู่ในทัพฝอยทองถึง 9 จากทั้งหมด 23 คน เป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพของสถาบันแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยโครงสร้างที่ทันสมัยของระบบพัฒนาเยาวชน และการเสาะหาเพชรเม็ดงามของเหล่าสเกาท์ตาคม หมายความว่าเราอาจจะได้เห็น นิวฟิโก้ หรือ เดอะเน็กซ์โรนัลโด้ ในอนาคตอันใกล้

 

นักเตะจากอะคาเดมี่

– เปาโล ฟูเตร้
– หลุยส์ ฟิโก้
– คริสเตียโน โรนัลโด้
– เจา มูตินโญ่
– วิลเลียม คาร์วัลโญ่

 

อันดับที่ 2 – De Toekomst (Ajax) เดอ ทูคอมสท์ ของสโมสรอาแจ็กซ์

อะคาเดมี่

 

ก่อตั้ง: 1900

เชื้อชาติของนักเตะ: 95% ชาวดัตช์ 5% ต่างชาติ

จำนวนเยาวชน: 240

 

ที่มา

De Toekomst หรือแปลว่า The Future  คือชื่อศูนย์ฝึกเยาวชนของสโมสร อาแจ็กซ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันลูกหนังที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ถือกำเนิดพร้อมกับการก่อตั้งทีมตั้งแต่ 1990 แต่มาโด่งดังสุดๆ ในช่วงยุค 1970s ที่มี “นายพล” ไรนุส มิเชลล์ ยอดตำนานกุนซือชาวดัตช์ เจ้าของแผนการเล่น Total Football เป็นผู้วางรากฐานระบบเยาวชนให้กับทีม โดยรับแนวคิดมาจาก ทีมชาติฮังการี ชุดเมจิกคอล แมกยาร์ โดยก่อนจะประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 3 สมัยซ้อน และกลายมาเป็นโมเดลในการพัฒนานักเตะรุ่นเยาว์ให้กับหลายสโมสรทั่วโลก

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

หลักจากวางรากฐานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 70 อาแจ็กซ์สานต่อความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาต่อเนื่องจนถึงยุค 1990s นำโดยผู้เล่นลูกหม้อผลผลิตจากสถาบันลูกหนัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ De Toekomst เป็นศูนย์ฝึกฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสตาร์ดังออกมามากมาย ที่อาแจ็กซ์หากมีดาวรุ่งฝีเท้าเจนจัดเกิดขึ้นแล้ว พวกเขากล้าที่จัดดันขึ้นชุดใหญ่แม้จะอายุไม่ถึง 17 ปีดีก็ตาม นอกจากนี้แนวทางปรัชญาลูกหนังที่ยังคงยึดมาจนถึงทุกวันนี้ อย่าง T.I.P.S. ที่ย่อมาจาก Technique, Insight, Personality, Speed คืออีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศูนย์ฝึกแห่งนี้ยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งสโมสรอย่าง บาร์เซโลนา ยังต้องดำเนินรอยตาม

 

ปัจจุบัน

ทุกวันนี้อาแจ็กซ์ขึ้นชื่อว่าเป็น “Player Factory” หรือโรงงานผลิตนักเตะ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเงินของทีมที่ไม่ดีนัก ทีมจะปลุกปั้นนักเตะในอะคาเดมี่และพัฒนาจนมีฝีเท้ายอดเยี่ยม ก่อนจะดันขึ้นสู่ชุดใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย จนเมื่อผลงานไปเตะตาทีมยักษ์ใหญ่ ก็จะขายตัวนักเตะออกไป ชื่อของผู้เล่นที่ในปัจจุบัน อย่าง คริสเตียน อีริคเซ่น, โธมัส แฟร์มาเลน หรือ ดาลี่ย์ บลินด์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจของอาแจ็กซ์ในช่วง 4-5 ปีหลัง อย่างไรก็ตามทีมจากแดนกังหันกำลังดำเนินโครงการระยะยาว 10 ปีเพื่อปลุกยักษ์หลับกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยย้อนคืนกลับสู่ปรัชญาดั้งเดิมคือ เน้นการใช้เด็กจากอะคาเดมี่ในสัดส่วน 70% ของทีมชุดใหญ่เสมอ นักเตะอายุน้อยจะถูกดันขึ้นสู่ชุดใหญ่อย่างสม่ำเสมอทุกปี

 

นักเตะจากอะคาเดมี่

– เวสลีย์ สไนเดอร์
– ราฟาเอล ฟาน เดอ ฟาร์ท
– ดาลีย์ บลินด์
– คริสเตียน อิริคเซ่น
– จัสติน ไคลเวิร์ต

 



 

อันดับที่ 1 – LA MASIA ลามาเซีย ของสโมสรบาร์เซโลน่า

อะคาเดมี่

 

ก่อตั้ง: 1979

เชื้อชาติของนักเตะ: 70% กาตาลัน 20% สเปน 10% ต่างชาติ

จำนวนเยาวชน:  250

 

ที่มา

ลา มาเซีย เดอ กาน ปลาเนส ศูนย์ฝึกแข้งวัยกระเตาะของ บาร์เซโลนา อันแปลว่าโรงนา เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จของทีมเจ้าบุญทุ่ม จุดกำเนิดของศูนย์ฝึกแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 1979 โจเซฟ นูนเญซ ประธานสโมสรในขณะนั้น ได้ทำตามแบบแผนของโยฮัน ครัฟฟ์ ที่เสนอรื้อระบบเยาวชนใหม่ทั้งหมด และสร้างอะคาเดมี่ของสโมสร โดยยึดตามแบบฉบับศูนย์ฝึกเยาวชนของอาแจ็กซ์ฯ จึงได้ก่อกำเนิดสถาบันลูกหนังระดับโลกขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา และมี กิเยร์โม่ อามอร์ เป็นผลผลิตรายแรกที่ปล่อยสู่โลกลูกหนัง

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ระบบการเล่นที่สวยงาม ความสมดุลทั้งรุกและรับ เกิดจากการหล่อหลอมปรัชญาการเล่นผ่านแบบแผนการฝึกซ้อมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ความสำเร็จให้กับที่นี่ก็คือ ปรัชญาที่มีตัวตน เด็กของ ลา มาเซีย จะถูกสร้างให้เป็น มากกว่า ปั้นให้เก่ง เยาวชนทุกชุดรวมถึงชุดใหญ่จะถูกสอนให้เล่นระบบเดียวกัน เพื่อให้ซึมซับและเข้าใจในปรัชญาของทีม นอกจากระบบการเล่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ลา มาเซีย แข็งแกร่งดังภูผาหินก็คือ การปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งแคว้นกาตาลุนญ่า อันเป็นการสร้างสำนึกรักบ้านเกิดแก่เยาวชนในทีม ทำให้สำหรับพวกเด็กๆ แล้ว ลา มาเซีย สำหรับพวกเขาเป็นบ้านมากกว่าโรงเรียนฟุตบอล

 

ปัจจุบัน

ลา มาเซีย สะท้อนบทบาทของการผลิตซ้ำได้เป็นอย่างดี นักเตะเยาวชนสามารถทดแทนรุ่นพี่ได้ หากฝีเท้าเข้าขั้นและคุณภาพเหมาะสม ด้วยความที่พวกเขาเล่นภายใต้ระบบเดียวกันในทีมทุกชุด เยาวชนเหล่านี้พกความเข้าใจภาษาฟุตบอลของบาร์เซโลนาอย่างแท้จริง เด็กทุกคนจะต้องพัฒนาตนเองให้มากขึ้น เพื่อโอกาสในการลงเล่น ส่งผลให้สโมสรมีตัวลือกที่หลากหลายและมีคุณภาพส่งผ่านแต่ละตำแหน่งแบบรุ่นสู่รุ่น โดยมีพื้นที่ฐานและวิถีการเล่นเดียวกัน

 

นักเตะจากอะคาเดมี่

– เป๊ป กวาร์ดิโอล่า
– ซาบี เอร์นานเดซ
– อันเดรส อิเนียสต้า
– เคร์ราร์ด ปิเก้
– เซร์คิโอ บุสเก็ตส์

 

 

รู้หรือไม่

ในนัดชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2010/2011 ที่ บาร์เซโลน่า เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปได้ 3-1 มีนักเตะจาก ลา มาเซีย อยู่ในทีมชุดนั้นถึง 10 คน นอกจากนี้ผู้จัดการทีมในตอนนั้นอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็เป็นผลผลิตจากค่ายนี้ด้วยเช่นกัน

 

ข้อบังคับของอะคาเดมี่ลา มาเซีย

อันนี้แถมเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ พิเศษให้ครับ เผื่อสโมสรฟุตบอลเยาวชนบ้านเราจะยึดเป็นแนวทางนำไปใช้ปฏิบัติ

  1. ห้ามนักเตะเยาวชนของ ลา มาเซีย คุยกับเอเยนต์ก่อนที่จะอายุครบ 15 ปี
  2. ห้ามนักเตะเยาวชน สัก ทำสีผม เจาะหู และเอาเสื้อออกนอกกางเกง ระหว่างอยู่ในความดูแลของ ลา มาเซีย

 

 

ปิดท้าย

สโมสรเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ต่างๆ ด้วยระบบการพัฒนาระบบเยาวชน พวกเขาเน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการพัฒนาเยาวชนไม่ได้ขึ้นอยู่สถานที่ฝึกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่การฝึกฝนของเยาวชนเอง การจะเป็นนักฟุตบอลระดับโลกได้นั้นพรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพรแสวงด้วย ขยัน อดทน มุ่งมั่น จะทำให้สามารถเป็นนักฟุตบอลระดับโลกได้

 


ireallylikefootball.com เว็บไซต์ คอลัมน์ฟุตบอล บทความฟุตบอล สร้างสรรค์ผลงานจากความตั้งใจ โดยกลุ่มคนที่รักและชอบฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ

“Football can make a friend, can make a life”

หากต้องการติดต่อสอบถามหรือขอลงโฆษณา email มาที่ ireallylikefootball@gmail.com
หรือติดต่อเราได้ที่ http://www.ireallylikefootball.com/contact